สิ่งสำคัญภายในวัด
ศาลเจ้าพ่อเรือง

ประวัติความเป็นมาของเจ้าพ่อเรือง

           เจ้าพ่อเรืองเป็นที่นับถือบูชาของชาวจีนย่านบางรัก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒   รูปหล่อปูนปั้นของเจ้าพ่อเรือง ในชุดนักรบมือซ้ายถือดาบ ลอยมาติดที่ท่าเทียบเรือแถววัดสวนพลู     ชาวจีนในแถบนั้นจึงได้สร้างศาลและอัญเชิญท่านมาอยู่ที่ตรอกไก่(ถนนศรีเวียงในปัจจุบัน) ติดกับโรงพยาบาลเลิดสิน จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในพื้นที่ เจ้าพ่อเรืองน่าจะเป็นขุนเรือง ทหารผู้กล้าในการสู้ศึกสมัยกรุงศรีอยุธยา จนได้รับการยกย่องจนมีการหล่อรูปปั้นขึ้น(จากคำบอกเล่าของคุณเจ็กสุ่นชาวตรอกไก่)

           ต่อมาพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อเรืองนั้น จะมีการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องรื้อศาลเจ้าพ่อเรืองออก ชาวจีนที่นับถือท่านอยู่ จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ภิญโญ บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งเป็นศึกษาธิการแขวงยานนาวาในขณะนั้นและอาศัยอยู่ที่วัดไทร อาจารย์ภิญโญจึงได้ขออนุญาติจากหลวงพ่อพูน กิตติสาโร เจ้าอาวาสวัดไทร เพื่อขออัญเชิญศาลเจ้าพ่อเรืองมาอยู่ที่วัดไทร จากนั้นมาชาวจีนที่นับถือบูชาเจ้าพ่อเรืองก็มากราบไว้อยู่เป็นเนืองนิตย์

            จนกระทั่งโรงแรมที่ก่อสร้างบนพื้นที่ศาลเจ้าพ่อเรืองเดิม ประสบปัญหาอุปสรรคอย่างมากมายในขณะก่อสร้างเช่น เครนก่อสร้างหล่นลงมาทำให้มีคนเสียชีวิต มีคนกระโดดตึกตาย ธุรกิจแย่ลง เจ้าของโรงแรมจึงได้สอบถามจากชาวตรอกไก่จนได้ความว่าพื้นที่นี้แต่เดิมมีศาลเจ้าพ่อเรืองอยู่  เจ้าของโรงแรมจึงได้มาขออนุญาติเจ้าพ่อเรืองที่วัดไทร เพื่อขอสร้างรูปจำลองของท่านเป็นองค์สัมริด มือขวา ถือถุงเงิน มือซ้ายชี้ไปข้างหน้า และนำไปประดิษฐานไว้พื้นที่เดิม หลังจากนั้นกิจการของโรงแรมนี้ก็เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก (โรงแรมเลอบัว แอท สเตท ทาวเวอร์)

ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเรือง

               เจ้าพ่อเรืองจะปกป้องคุ้มครองชาวจีนแถวบางรัก เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ ไฟก็ไม่ลุกลามทั้งๆที่เป็นบ้านไม้กันทั้งหมด มีคนเห็นท่านอยู่บ่อยครั้ง ถ้าขอพรจากท่านก็สมหวังไปทุกราย ชาวจีนแถวบางรักนิยมกราบไหว้บูชาท่านด้วยหมากพลู กาแฟดำ ผลไม้ และฝิ่น(สมัยนั้นมีโรงฝิ่นอยู่ใกล้ๆศาล) นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเชิดสิงโตคารวะที่ศาลทุกปี 

 

คาถาบูชาเจ้าพ่อเรือง

พุทธัง   วันทนานัง  พรหมนัง    อหังวันทามิ

ธัมมัง    วันทนานัง อินทรทริยัง อหังวันทามิ

สังฆัง    วันทามิ      เจ้าพ่อเรือง  อะหังวันทามิ

สาธุกัง    มุนิวะระ   วะจะนัง      นะมัสสะ

สักกายะ  เทวะโสตถี  ภวันตุเม

โพสเมื่อ : 10 ก.ย. 2556,13:34   อ่าน 4126 ครั้ง